เหล็กรูปพรรณ คืออะไร ? เรื่องเหล็ก ๆ ที่ควรรู้ก่อนนำไปใช้งาน !


โพสต์เมื่อ 10 Mar 2025 เข้าชม 478 ครั้ง
ความรู้เกี่ยวกับเหล็ก

เหล็กรูปพรรณ ขึ้นรูปเย็น คืออะไร ? 

เหล็กรูปพรรณขึ้นเย็น คือ เหล็ก ที่มีการขึ้นรูปจากเหล็กแผ่น โดยใช้อุณหภูมิห้องที่อยู่ในระดับปกติ โดยการกระบวนการผลิตนั้น จะนำวัตถุดิบจากการผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนมาพับและเชื่อม ซึ่งกระบวนการนี้จะทำให้เหล็กรูปพรรณรีดเย็นมีรูปทรงที่หลากหลาย เพื่อให้เหมาะแก่การใช้งาน  

 

เหล็กรูปพรรณ ขึ้นรูปเย็น มีกี่ประเภท ?  

เหล็กรูปพรรณขึ้นรูปเย็น เป็นเหล็กที่นิยมใช้ในงานก่อสร้าง และงานสถาปัตยกรรม  โดยการนำไปใช้งานของแต่ละประเภท มีความแตกต่างกัน ดังนี้  

 

ท่อเหล็กดำ (Carbon Steel Tubes)  

เกิดจากการม้วนเหล็กแผ่นให้ได้ทรงกระบอกด้วยลูกรีดในอุณหภูมิห้องปกติ จากนั้นใช้การเชื่อมขอบเหล็กเพื่อให้เกิดความร้อน รีดปรับขนาดเพื่อให้ท่อตรงขึ้นและตัดความยาวตามที่ต้องการ 

ท่อเหล็กดำ มีหน้าตัดที่นิยมใช้ แบ่งออกเป็น 3 แบบคือ หน้าตัดท่อกลม , หน้าตัดท่อเหลี่ยม และหน้าตัดท่อแบน  

 

  • ท่อเหล็กกลมดำ (CARBON STEEL TUBES)  

ท่อเหล็กกลมดำ มีภาคตัดขวางเป็นรูปวงกลม เป็นท่อที่มีน้ำหนักเบา แต่มีความแข็งแรง เหล็กชนิดนี้สามารถรับแรงดันได้สูง  

นิยมใช้กับงาน : เน้นโครงสร้างงานใหญ่ ๆ เป็นหลัก เช่น เสาขนาดใหญ่ , โครงสร้างหลังคาขนาดใหญ่ และท่อเหล็กกลมดำยังสามารถนำไปใช้กับระบบอาคารบางส่วน เช่น ท่องานระบบดับเพลิง , ท่อระบบหล่อน้ำเย็น (ระบบระบายความร้อน)  

 

  • เหล็กท่อเหลี่ยม หรือ เหล็กกล่องเหลี่ยม 

เหล็กหน้าตัดท่อเหลี่ยม จะเป็นเหล็กที่มีภาคตัดขวางเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ตั้งฉาก 90 องศา ด้านในของเหล็กชนิดนี้จะกลวง ตัวเหล็กจะมีความเรียบผิวสม่ำเสมอ แข็งแรงทนทาน น้ำหนักเบา  

นิยมใช้กับงาน : โครงสร้างขนาดเล็ก - ขนาดกลาง เช่น เสา , เฟอร์นิเจอร์เหล็กแบบบิวท์อิน  

 

  • เหล็กท่อแบน หรือ เหล็กกล่องแบน  

เหล็กท่อแบน จะมีลักษณะภาคตัดขวางเป็นรูปสี่เหลี่ยมเหมือนกับเหล็กท่อเหลี่ยม แต่เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ด้านในกลวง ผิวเรียบ เหล็กชนิดนี้มีความแข็งแรงและน้ำหนักเบา  

นิยมใช้กับงาน : โครงสร้างขนาดเล็ก เช่น เสา , นั่งร้าน , ประตู , หน้าต่าง  

 

ท่อเหล็กชุบสังกะสี หรือท่อเหล็กกัลวาไนซ์(Galvanized Steel Pipes) 

ท่อเหล็กชุบสังกะสี เป็นเหล็กที่มีภาคตัดขวางเป็นรูปวงกลม หรือที่คนส่วนใหญ่เรียกกันว่าท่อแป๊ปน้ำ หรือท่อประปา โดยท่อชุบสังกะสี สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทย่อย ๆ คือ  

 

  • ท่อเหล็กชุบสังกะสี Hot-Dip Galvanized Pipe  

เป็นเหล็กที่มีการคาดสี 3 สี โดยแต่ละสีจะเป็นการบ่งบอกระดับของความหนาของท่อนั้น ๆ โดยสีแดง มีความหนามากที่สุด , สีน้ำเงิน มีความหนาปานกลาง และสีเหลือง เป็นท่อที่มีความบางหรือมีความหนาน้อยที่สุด ซึ่งท่อทั้ง 3 สีนี้ มีสิ่งที่เหมือนกัน นั่นก็คือ ทำมาจากเหล็กกล้าอาบด้วยสังกะสี ปลายของท่อทำเป็นเกลียว 

นิยมใช้กับงาน : งานระบบอาคาร เช่น งานท่อดับเพลิง , งานท่อสุขภิบาล และงานท่อสาธารณูปโภค  

 

  • ท่อสังกะสี Pre-Zinc  

เป็นเหล็กที่คนนิยมเรียกกันว่า เหล็กท่อ GI เป็นเหล็กที่ไม่มีสัญลักษณ์ มอก. (มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม) เหล็กชนิดนี้จะไม่มีการเคลือบสังกะสีเหมือนกับ Hot-Dip Galvanized Pipe ในอนาคตอาจส่งผลให้เกิดสนิมได้  

นิยมใช้กับงาน : งานตกแต่งอาคารที่อยู่ในที่ร่ม เช่น โครงสร้างเรือนเพาะชำ ฟาร์ม , งานฝ้า , โครงรถเข็น  

 

เหล็กตัวซี (Light Lip Channel)  

เหล็กตัวซี คือ เหล็กที่มีลักษณะภาคตัดขวางเป็นรูปตัวอักษร C โดยนำแผ่นเหล็กมาม้วน และพับเป็นรูปตัวซี เหล็กชนิดนี้มีความแข็งแรง น้ำหนักเบา คงทนต่อการกัดกร่อนได้ดี แต่เหล็กชนิดนี้ไม่เหมาะกับงานโครงสร้างขนาดใหญ่ เนื่องจากต้องรับน้ำหนักที่มากเกินไป  

นิยมใช้กับงาน : งานโครงสร้างขนาดเล็ก - ขนาดกลาง เช่น โครงสร้างป้ายโฆษณา , โครงสร้างบันได , แปหลังคา  

 

ท่อเหล็กเชื่อมแนวตะเข็บเกลียว (Spiral Pipe)  

ท่อเหล็กเชื่อมแนวตะเข็บเกลียว เป็นเหล็กที่มีลักษณะภาคตัดขวางเป็นรูปวงกลม แนวเชื่อมจะขดคล้ายกับสปริงมีขนาดใหญ่ แข็งแรง รับแรงได้ดี และทนทานมากเป็นพิเศษ 

นิยมใช้กับงาน : งานที่มีโครงสร้างขนาดใหญ่ เช่น งานท่อสำหรับส่งน้ำดิบ , งานขุดเจาะ , ระบบงานชลประทาน , งานเสาเข็มชายฝั่งทะเล  

 

เหล็กฉากพับ (Angel Channel)  

เหล็กฉากพับ เป็นเหล็กที่มีลักษณะคล้ายตัวอักษร L รูปทรงจะคล้าย ๆ กับเหล็กฉาก แต่เหล็กฉากพับมุมจะไม่โค้งมนเหมือนเหล็กฉาก ตัวเหล็กมีความยืดหยุ่นและสามารถรับแรงได้ดี เป็นตัวจบในการตกแต่งเพื่อความสวยงาม 

นิยมใช้กับงาน : โครงสร้างขนาดเล็ก รวมไปถึงงานตกแต่ง เช่น หลังคา , งานแปโรงงาน , งานเฟอร์นิเจอร์บิวท์อิน  

 

เหล็กรูปพรรณ มีข้อดีอย่างไร ?  

  • เหล็กรูปพรรณมีกำลังในการรับน้ำหนักสูง เหมาะกับงานก่อสร้างอาคารสูง ๆ  

  • สามารถออกแบบงานสถาปัตยกรรมได้หลากหลายรูปแบบ  

  • หากมีการดูแลอย่างเหมาะสม อายุการใช้งานของเหล็กรูปพรรณจะมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน  

  • เหมาะสำหรับพื้นที่ที่มีข้อจำกัด ไม่ก่อให้เกิดฝุ่น สามารถก่อสร้างได้ง่ายสะดวกและรวดเร็ว  

  • รับแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวได้ดีกว่าโครงสร้างแบบอื่น ๆ  

  • เหล็กรูปพรรณสามารถนำมาดัดแปลง ต่อเติม หรือสร้างใหม่ได้ โดยไม่ต้องทุบทิ้ง  

 

ข้อแนะนำในการซื้อ เลือกซื้อเหล็กรูปพรรณอย่างไรให้มีคุณภาพ  

  • ขนาดของเหล็กรูปพรรณจะต้องตรงตามสเปค มีความหนาและเท่ากันทุกเส้น  

  • มุมของเหล็กจะต้องตั้งฉาก 90 องศา ไม่มีรอยแตก มุมทแยงจะต้องมีขนาดเท่ากันทั้งหมด ไม่ควรมีรอยแตกที่เกิดจากการเชื่อมไม่สนิท  

  • ความยาวและสีของเหล็กจะต้องเหมือนกันและเท่ากันทุกเส้น ไม่มีความคดงอ หรือบิด  

  • น้ำหนักเหล็กรูปพรรณจะต้องได้ตามมาตรฐาน หากต่ำกว่า 10 กิโลกรัมต่อเส้น น้ำหนักต่อเส้นจะต้องบวกลบกันไม่เกิน 4.5 % ต่ำกว่า 50 กิโลกรัมต่อเส้น  

  • จะต้องระบุเครื่องหมาย มอก. (มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม) เครื่องหมายการค้า (ยี่ห้อ) อย่างชัดเจน  

  • เหล็กจะต้องไม่มีสนิม หรือน้ำมันเคลือบสีที่ไม่ได้เกิดจากธรรมชาติของเหล็ก  

  • เนื้อเหล็กจะต้องไม่หยาบ ไม่แตก เนื้อเหล็กจะต้องเนียนเป็นเนื้อเดียวกัน และจุดเชื่อมจะต้องต่อกันอย่างแนบสนิทไม่มีร่องรอยแตก  

  • ควรสอบถามกับทางร้านค้าอย่างละเอียด และควรเลือกซื้อร้านที่มีความน่าเชื่อถือ และหากสินค้ามีปัญหา หรือไม่ตรงตามสเปคต้องรับคืน หากสินค้านั้นไม่ได้มาตรฐาน  

ที่มา 

1 2 3